ฮุปแต้มอีสาน, สิมอีสาน (Isan Mural Painting and Isan Temple Architectures)

 สิม หอไตร ฮูปแต้ม

 Sim ISAN สิม สิมอีสาน หอไตรอีสาน ฮูปแต้มอีสาน มนต์เสน่ห์แห่งพุทธศิลป์แดนดินอีสาน
 
  
  
บทความดีๆ จากอินเตอร์เน็ต : ความหลากกลายของลัทธิความเชื่อในฮูปแต้มในสิมอีสาน
ศุกร์ ที่ 6 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2556

ความหลากกลายของลัทธิความเชื่อในฮูปแต้มในสิมอีสาน

           ภาพรวมของฮูปแต้มในสิมอีสานดังกล่าวข้างต้น พอสรุปได้ว่านอกจากจะแสดงเรื่องอันเนื่องในพระพุทธศาสนา เช่น เวสสันดรชาดก ทศชาติชาดก พระมาลัย สินไซ (ถือว่าเป็นชาดกนอกนิบาตและพบมากในเขตอีสานกลาง) พุทธประวัติ นรกภูมิ และสวรรค์ แล้ว ยังมีเรื่องที่อยู่นอกพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระลัก-พระลาม หรือเรื่องรามเกียรติ์ ราหูอมจันทร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งฮูปแต้มเชิงสังวาส และประเพณีท้องถิ่น นอกจากนั้นเทพสัตว์ในตำนานที่นิยมวาด คือ นาค ครุฑ สิงห์ ส่วนสถานที่ดำเนินเรื่องมักจะมีภูเขาและแม่นํ้าเป็นองค์ประกอบ และสถานที่ดำเนินเรื่องที่ปรากฏในฮูปแต้มหลายเรื่องก็มักจะเป็นป่า โดยเฉพาะป่าหิมพานต์ หรือ หิมวันต์ ก็เรียก

           เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏอยู่ในฮูปแต้มในสิมอีสาน สิมอีสานบางแห่ง เช่น วัดสนวนวารีพัฒนาราม และวัดสระบัวแก้ว นอกจากจะผสมผสานกันระหว่างเรื่องราวต่างๆ ในพระพุทธศาสนาและวิถีชีวิตของชุมชนแล้ว ยังมีเรื่องเล่าหรือตำนานนอกพระพุทธศาสนาอยู่ด้วย เรื่องดังกล่าวเมื่อมองในมุมมองของพระพุทธศาสนาเรียกว่า พาหิรกถา ได้แก่ พระรามชาดกวัดป่าเลไลย์ ปรากฏทั้งภายในและภายนอกสิม ราหูอมจันทร์ ฮูปแต้มเชิงสังวาส ซึ่งเมื่อวาดในสิมก็มักจะถูกจัดอยู่ด้านนอก คือ จัดเรื่องราวหรือตำนานในพระพุทธศาสนา เช่น เรื่องเวสสันดรในอารามอยู่ภายนอก เรื่องพุทธประวัติอยู่ด้านใน แล้วนำเสนอเรื่องที่เป็นพาหิรกถาอยู่ด้านนอก อย่างไรก็ตามการจัดระบบคิดแบบนี้ก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องเคร่งครัด เพราะภายในสิมอีสานบางแห่งก็มีเรื่องราวภายนอกพระพุทธศาสนาอยู่ภายในสิมด้วย

           เพื่อให้เห็นว่าเรื่องราวที่ถือเป็นพาหิรกถา(เรื่องนอกพุทธศาสนา) นั้นมีความเป็นมาอย่างไร มีรากฐานความเชื่อต่างจากพระพุทธศาสนาอย่างไร จึงขอกล่าวถึงเรื่องที่เป็นพาหิรกถาที่ปรากฏในฮูปแต้มอีสาน 3 เรื่อง คือ ราหูอมจันทร์ พระลัก-พระลาม และฮูปแต้มเชิงสังวาส


           ฮูปแต้มราหูอมจันทร์ เป็นเรื่องตำนานเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งตามคติของพราหมณ์ถือว่าพระราหู นับเป็นเทพองค์ที่ 8 ของเทวดานพเคราะห์ ตามตำนานบอกว่า พระอิศวรได้สร้างพระราหูขึ้น โดยใช้หัวผีโขมด 12 หัว ครั้งหนึ่งพระราหูได้ปลอมตัวเข้าไปในเทพชุมนุมเพื่อจะได้กินนํ้าอมฤต พระจันทร์และอาทิตย์พบเข้าจึงไปแจ้งแก่พระวิษณุ พระวิษณุจึงขว้างจักรออกไปถูกกายของพระราหูจนขาดไปครึ่งตัว แต่เนื่องจากได้ดื่มนํ้าอมฤตแล้วจึงไม่ตาย พระราหูโกรธพระจันทร์และพระอาทิตย์มากที่นำความไปบอกพระวิษณุจนทำให้ตนต้องถูกลงโทษ จึงหาโอกาสคอยจับพระอาทิตย์และพระจันทร์เข้าไปในปากหรือที่เรียกว่าอม เพื่อเป็นการแก้แค้นอยู่เนืองๆ

           อีกตำราหนึ่งกล่าวว่า สมัยหนึ่งพระเสาร์เกิดเป็นพญานาค พระอาทิตย์เกิดเป็นพญาครุฑ พระพฤหัสบดีเป็นพระอินทร์ พญาครุฑอยากกินพญานาค จึงไล่พญานาค พญานาคกลัวหนีไปพึ่งพระราหู พระราหูช่วยขับไล่พญาครุฑ พญาครุฑหนีไปพึ่งพระอินทร์ พระราหูตามไปไม่ทันและเกิดกระหายนํ้าขึ้นมาจึงแอบไปกินนํ้าอมฤต พระอินทร์พบเข้าจึงเอาจักรเพชรขว้างราหูขาดเป็นสองท่อน แต่พระราหูก็ไม่ตายเนื่องจากได้กินนํ้าอมฤตไปแล้ว (เสฐียรพงษ์ วรรณปก,2543)


           ฮูปแต้มเรื่องพระลัก-พระลาม หรือเรื่องรามเกียรติ์ เป็นเรื่องที่ปรากฏตามตำนานเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยมีความเชื่อว่าพระรามเป็นภาคอวตารหนึ่งของพระวิษณุ(พระนารายณ์) การอวตารครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดทศกัณฐ์หรือท้าวราพณ์ โดยพระวิษณุอวตารลงมาเป็นโอรสองค์โตของกษัตริย์แห่งอโยธยา ทรงพระนามว่า พระราม มีพระอนุชาต่างมารดา คือ พระภรต พระลักษณ์ และพระศัตรุต เรื่องราวดำเนินไปโดยเป็นการสงครามระหว่างเทพและอสูร สุดท้ายแล้วฝ่ายเทพก็เป็นฝ่ายชนะ มีตัวละครที่เป็นเทพสัตว์ในเรื่องนี้หลายตัว เทพสัตว์ที่มักปรากฏในภาพเขียนเสมอ คือ หนุมาน (สมคมแดง สมปวงพร,2537)

           ฮูปแต้มเชิงสังวาส สันนิฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลจากลัทธิตันตระ ซึ่งเป็นลัทธิหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากนิกายศักติและภักดีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คำว่าตันตระ หมายถึง ปัญญาที่แผ่ไปเพื่อป้องกันอันตราย ตันตระเป็นหมวดคัมภีร์หนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายยกย่องเชิดชูพระศิวะกับพระนางอุมาเทวี มีรูปแบบในการแสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างสูงสุด โดยรูปปั้นของการอยู่ร่วมกันเป็นคู่ อันมีเรื่องของกามารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง และเน้นการยอมรับนับถือในรูปแบบพิธีกรรมที่ปราศจากเหตุผล (สุมาลี มหณรงค์ชัย ,2546) รูปแบบการนำเสนอดังกล่าวเป็นที่ถูกจริตของปุถุชนทั่วไป จึงถูกนำมาประยุกต์เสนอในรูปแบบต่างๆ


           ทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว มีเพียงเรื่องราหูอมจันทร์เท่านั้นที่มีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎก คือปรากฏในสุริยสูตรและจันทิมสูตร เรื่องมีอยู่ว่า พระราหูวิ่งไล่เพื่อที่จะอมพระอาทิตย์และพระจันทร์ พระอาทิตย์และพระจันทร์เกิดความหวาดกลัว จึงเปล่งวาจาขอความช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้า ว่าพวกตนอยู่ในภาวะอันตรายขออาศัยพระพุทธคุณเป็นที่พึ่ง พระราหูได้ยินดังนั้นจึงยอมปล่อยพระอาทิตย์และพระจันทร์ด้วยความเกรงกลัวอานุภาพของพระพุทธเจ้า

           นักปราชญ์ชาวพุทธบางท่านเห็นว่าเรื่องนี้ฝ่ายพุทธไปรวมเอาเรื่องเล่าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาไว้ในพระไตรปิฎก หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ชาวพุทธเอาเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกมาบวชคือทำให้มีเค้าโครงเรื่องเหมือนกับเรื่องชาดกในพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม มีผู้เห็นว่าพระธัมมสังคหกาจารย์


           หรืออาจารย์ผู้รวบรวมพระไตรปิฎก ต้องการเอาความเชื่อของผู้คนที่มีอยู่ก่อนแล้ว (พราหมณ์มีมาก่อนพุทธ) เพื่อนำมาเป็นสื่อแสดงให้เห็นแก่นของธรรม โดยต้องการสื่อความหมายว่าราหูก็คือโมหะหรืออวิชชาคือความไม่รู้ในอริยสัจ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีโมหะหรืออวิชชาครอบงำอยู่ โลกก็จะมืดมนไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่พระจันทร์และพระอาทิตย์ถูกราหูอม เมื่อมนุษย์มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งแล้วด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมก็จะทำให้ความมืดมนคือโมหะหรืออวิชชาหายไปได้ เหมือนกับพระจันทร์และพระอาทิตย์ที่ไม่ถูกปิดปังด้วยสิ่งใดๆ ย่อมส่องแสงสว่างฉันใดก็ฉันนั้น

           จุดยืนที่แตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มองในแง่ของอุดมการณ์ของชีวิตและสังคมแล้ว พระพุทธศาสนาเถรวาทเผยแผ่อุดมการณ์แบบพระอรหันต์ที่เน้นให้ปัจเจกบุคคลบำเพ็ญเพียรเพื่อขจัดกิเลสภายในตนให้ได้อย่างสิ้นเชิง และเน้นการสร้างสังคมที่มีพระอริยสงฆ์อยู่ในสังคมนั้นด้วย ส่วนพระพุทธศาสนามหายานนั้นเผยแผ่อุดมการณ์แบบพระโพธิสัตว์ ที่ไม่ต้องการอรหันตภูมิแต่ปรารถนาพุทธภูมิเพื่อโปรดสัตว์หรือช่วยเหลือสังคมได้อย่างกว้างขวาง

           ในขณะที่พระพุทธศาสนาซึ่งมีจุดยืนแบบอเทวนิยม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งมีจุดยืนแบบเทวนิยมได้เข้ามาเผยแผ่ในอีสานและล้านช้างในช่วงเดียวกันนั้น ไม่ได้เน้นอุดมการณ์เชิงปรัชญาแต่ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมอันเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าในฮินดู โดยลัทธิที่แพร่หลายในดินแดนแถบนี้ คือ ลัทธิไศวนิกาย เป็นลัทธิที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่กว่าเทพ 2 องค์ที่เหลือ คือ พระพรหมกับพระวิษณุ พระศิวะเป็นเทพทำลายและสร้างสรรค์ สัญลักษณ์อย่างหนึ่งแทนพระศิวะคือ ศิวลึงค์ และโยนี ซึ่งได้รับการบูชาเช่นองค์พระศิวะ นอกจากนั้นนิกายนี้ยังนับถือพระนางอุมาหรือกาลีด้วย

           จะเห็นได้ว่าแม้พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จะมีต้นกำเนิดมาจากอินเดียเหมือนกันแต่ก็มีจุดยืนเชิงอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของ เป้าหมายทางศีลธรรม วิธีการบรรลุเป้าหมายทางศีลธรรม แนวคิดเรื่องการการขึ้นของ โลกและจักรวาลทั้งสองศาสนาก็มีความแตกต่างกัน ตลอดคำศัพท์บางคำในศาสนา เช่น กรรมและการเกิดใหม่ ทั้งสองลัทธิก็ใช้ในความหมายที่แตกต่างกัน (รายละเอียดดูในตำราศาสนาทั่วไป) การอยู่ร่วมกันของความเชื่อบนจุดยืนที่แตกต่าง

           สำหรับปัญหาที่นำเสนอข้างต้นที่ว่า ถ้ามีจุดยืนที่แตกต่างกันแล้วจะอยู่ด้วยกันในศาสนสถานเดียวกันได้อย่างไร และฮูปแต้มในสิมอีสานสะท้อนพหุนิยมทางความเชื่อได้อย่างไร ผู้เขียนจะพิจารณาเป็นสองนัย ดังนี้ นัยแรก เป็นไปได้หรือไม่ที่ฝ่ายพระพุทธศาสนาปรับปรุงการเผยแผ่คำสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ยังมีความเชื่อแบบพราหมณ์-ฮินดูอยู่ด้วย เนื่องจากอีสานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 เป็นช่วงที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้รับการยอมรับนับถือจากกษัตริย์และเจ้านครต่างๆ ดังปรากฏหลักฐานที่เป็นปราสาทหินขนาดต่างๆ กระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน ระยะเวลาร่วม 300 ปี ที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีอิทธิพลอยู่นั้น ความเชื่อในเทพเจ้าแบบฮินดู พิธีกรรม และตำนานสำคัญต่างๆ ยังคงมีผลต่อวิถีชีวิตประเพณีท้องถิ่นของผู้คนในดินแดนแถบนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำเสนอเรื่องราวที่มาจากความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในสิมอีสานอันเป็นศาสนสถานสำคัญของพระพุทธศาสนาด้วย


           จะเห็นได้ว่าเรื่องราหูอมจันทร์เป็นความเชื่อกันแพร่หลายในชุมชนท้องถิ่น โดยชาวบ้านมักจะตีเกราะเคาะกะลาไล่ราหูเพื่อให้ราหูคายพระจันทร์และพระอาทิตย์ให้เป็นอิสระ ชุมชนบางแห่งมีการเคาะยุ้งฉางเพื่อเป็นเคล็ดว่าผลผลิตข้าวปีนี้จะดี ส่วนเรื่องพระลัก-พระรามก็เป็นวรรณกรรมที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันอยู่แล้วเช่นเดียวกับวรรณกรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้มีที่มาจากพระไตรปิฎกโดยตรง เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องที่แพร่หลายอยู่แล้วในท้องถิ่นก็ต้องการนำเสนอในวัดด้วย เนื่องจากวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในอดีต การวาดฮูปแต้มในสิมอีสานจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการเรียนรู้ด้วย โดยนำเอาเรื่องราวในพระพุทธศาสนานำเสนอพร้อมกับเรื่องราวนอกพุทธศาสนารวมทั้งเรื่องวิถีชีวิตและประเพณีท้องถิ่นด้วย อนึ่ง แม้เรื่องเพศศึกษาก็มีนำเสนอเพื่อสอดแทรกให้เรียนรู้กันในวัดได้ เพราะการเรียนรู้ในวัดกิเลสน่ากำเริบน้อยกว่าเรียนรู้เรื่องดังกล่าวนอกวัด

           นัยที่สอง อาจเป็นเพราะนักปราชญ์ชาวพุทธเห็นว่า ตำนานต่างๆ นั้น เป็นเรื่องเล่าทางศาสนาเพื่อต้องการสอนหลักธรรมอันมีจุดมุ่งหมายทั้งในระดับโลกิยะและโลกุตตระ ซึ่งการจะเข้าถึงจุดมุ่งหมายในระดับไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญาและอุปนิสัยของผู้ฟังด้วย ดังนั้นแม้เรื่องภายนอกพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระลัก-พระลาม ราหูอมจันทร์ หรือแม้กระทั่งฮูปแต้มเชิงสังวาส ก็สามารถ ตีความ

           หรืออธิบายเป็นพุทธธรรมในระดับปรมัตถ์ได้ ดังที่พระธัมมสังคหกาจารย์ในอดีตได้นำเสนอเรื่องราหูอมจันทร์ให้เป็นสื่อในการเข้าถึงแก่นธรรมทางพระพุทธศาสนา ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการตีความเชิงพุทธธรรมโดยสังเขป ในเรื่องพระลัก-พระลาม ดังต่อไปนี้ เรื่องพระลัก-พระราม หรือเรื่องรามเกียรติ์ มีผู้ตีความตัวละครในเชิงพุทธธรรมว่า พระราม หมายถึงฉันทะหรือศรัทธา นางสีดา หมายถึงนิพพาน ถือเอาตามนัยที่ว่า คำว่า สีดา นั้น มาจาก คำว่า สีตะ ที่แปลว่า เย็น ผู้บรรลุนิพพานเรียกได้ว่าเป็นผู้เย็นแล้วเพราะดับกิเลสอันเป็นเหตุแห่งความร้อนได้สนิท พระลักษณ์ หมายถึงวิริยะ คือความเพียร เพราะคำว่าลักษณ์นั้นหมายถึงผู้มีโชค และผู้มีความเพียรเท่านั้นจึงจะเป็นผู้มีโชคหรือประสบผลสำเร็จ สุครีพ หมายถึงจิตตะ คือ ความเอาใจจดจ่อในจุดหมาย หนุมาน หมายถึงวิมังสา คือ การพิจารณาไตร่ตรองอันจะนำไปสู่ดำเนินการต่างๆ อย่างคล่องแคล่วว่องไว ทศกัณฐ์

           หมายถึงอัตตา คือ ความยึดมั่นว่ามีตัวตน การที่ทศกัณฐ์ มีสิบหน้า หมายถึงอัตตาที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย (ภิกขุโพธิ์ แสนยานุภาพ,5242)โดยภาพรวมสงครามระหว่างเทพกับยักษ์ ก็หมายถึง สงครามระหว่างกุศลกับอกุศลที่เกิดขึ้นในใจของมนุษย์นั่นเอง ดังนั้นผู้ที่ดูฮูปอีสานแต้มแล้วพิจารณาเห็นธรรมตามนัยดังกล่าวก็จะได้ประโยชน์ทางธรรมจากเรื่องราวดังกล่าวด้วย ในส่วนของฮูปแต้มเชิงสังวาส เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นกามตัณหาของมนุษย์ ที่สะท้อนออกมาในกิจกรรมอันมีนํ้าเป็นที่สุด (อุทกันติกา) เป็นกิเลสที่เหมือนยางเหนียวที่ติดแน่นอยู่ในใจมนุษย์ยากที่จะละขาดได้ เมื่อมองฮูปแต้มเชิงสังวาสในมุมนี้ หากพิจารณาเห็นโทษของกามตัณหาได้ก็จะเป็นประโยชน์ในทางธรรมได้อีกโสดหนึ่ง

           สรุป จะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่เป็นตำนานความเชื่อต่างๆ ที่มาจากศาสนาที่มีจุดยืนทางอภิปรัชญาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเป้าหมายทางศีลธรรมและวิธีการบรรลุเป้าหมายทางศีลธรรม หรือหลักการทางจริยธรรม ตลอดจนแนวคิดเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของโลกและสังสารวัฏ สามารถอยู่ร่วมกันในศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาได้


           การพิจารณาจากสองนัยข้างเป็นการพิจารณาที่เจาะลงไปถึงรูปแบบการเผยแผ่ศาสนาและวิธีการนำเสนอ ซึ่งขาดบริบททางวัฒนธรรม หากพิจารณาจากบริบททางวัฒนธรรมของอีสานที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู รวมทั้งได้รับการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมที่มาจากทั้งไทยและลาว จะเห็นได้ว่าการอยู่ร่วมกันของความเชื่อที่มีจุดยืนที่ต่างกันในฮูปแต้มในสิมอีสานนั้น สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการผสมผสานของความเชื่อ (Syncretism)ที่ให้ความสำคัญกับการผสมผสานลักษณะทางวัฒนธรรมหรือหลายๆ ความเชื่อ เข้าด้วยกัน

           การนำเสนอเนื้อหาของฮูปแต้มในสิมอีสานนั้นนอกจากจะพบเห็นการผสมผสานความเชื่อทางศาสนาเข้ากับความเชื่อในท้องถิ่นแล้ว ยังพบว่า ยังเป็นการผสมผสานหลายๆ ศาสนา หรือหลายระบบความเชื่อ (Syncretism between religions) กล่าวคือเป็นการผสมผสานความเชื่อระหว่างพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนาอย่างลงตัว

           นอกจากนั้นเนื้อหาของฮูปแต้มในสิมอีสานยังบอกเล่าเรื่องราวในวิถีชีวิตและประเพณีท้องถิ่นอีสานด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกาย การเป็นอยู่ของผู้คนที่มีฐานต่างๆในสังคม การนำเสนอเนื้อหาของฮูปแต้มในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการคงไว้ซึ่งความเชื่อที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมแห่งสันติ สร้างความเข้าอกเข้าใจระหว่างกันในกลุ่มชนที่มีความเชื่อแตกต่างกัน รวมทั้งสร้างความเคารพในทางวัฒนธรรมจากจุดยืนทางปรัชญาที่แตกต่างกัน

           อีกนัยหนึ่งก็เป็นการพิสูจน์ว่าพุทธศาสนาแบบเถรวาทซึ่งมีหลักปฏิบัติที่เน้นทางสายกลาง ให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย อธิบายความจริงของชีวิตแบบตรงไปตรงมา ตัดส่วนที่ฟุ่มเฟือยและซับซ้อนเกินจำเป็นออกไป เพราะเห็นว่าจะทำให้ประชาชนสูญเสียแรงงานสูญเสียเวลาทำมาหากินบนผืนแผ่นดินที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติและมีฤดูแล้งที่ยาวนาน รวมทั้งอุดมคติแบบพระอรหันต์ที่ทำให้นักบวชในศาสนาอยู่นอกเหนือการแย่งยิงอำนาจทางการเมืองมากกว่าลัทธิอื่นนั้นเหมาะสมกับวิถีชีวิตและเป้าหมายทางจิตวิญญาณของผู้คนในดินแดนแถบนี้มากกว่าลัทธิอื่นๆ แต่ก็พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับลัทธิความเชื่ออื่นๆ อย่างสันติและเคารพในวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่าง


บรรณานุกรม
ธวัช ปุณโณทก. 2550. พระพุทธศาสนาในอีสานและล้านช้าง. ในการสัมมนานานาชาติ เรื่อง พระพุทธศาสนากับวิถีชีวิต คนไทยปัจจุบัน จัดโดยมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก และองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี วันที่ 27 กรกฎาคม 2550.
พิชญ์ สมพอง.2550. วิถีชีวิตและวัฒนธรรมอีสาน. ในการสัมมนาเรื่อง ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในประเทศไทย เพื่อจัดทำแผนที่วัฒนธรรม 4 ภูมิภาค ระยะที่ 2 ณ โรงแรมโซฟิเทล ราชาออคิด จังวัดขอนแก่น วันที่ 20-21 กรกฎาคม 2550.
ภิกขุโพธิ์ แสนยานุภาพ. 2542.ชำแหละรามเกียรติ์. กรุงเทพฯ: สถาบันบันลือธรรม.
สมคมแดง สมปวงพร.2537. ย้อนรอยชมพูทวีป.กรุงเทพฯ: คุ้มคำสำนักพิมพ์.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก.2543 .มีศัพท์ มีแสง.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
สุมาลี มหณรงค์ชัย. 2546.ฮินดู-พุทธ จุดยืนที่แตกต่าง.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.


เข้าชม : 2850


บทความดีๆ จากอินเตอร์เน็ต 5 อันดับล่าสุด







    หมายเหตุ : บางวัด ภาพจากอินเตอร์เน็ต เพราะยังไม่ได้เดินทางไปชม
ออกแบบโลโก้ ออกแบบกล่อง ออกแบบถุง ออกแบบสิ่งพิมพ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ วาดเส้น จิตรกรรม Drawing  Painting รับทำ SEO, ปั่นเว็บ, หน้า 1, อันดับ 1 ฮูปแต้ม, สิมอีสาน, ฮูบแต้ม, ศิลปะอีสาน, สิม, โบสถ์, หอไตร, สถาปัตยกรรมอีสาน
9809/1 Anankanak Rd., Tambol Kalasin, Amphoe Muang, Kalasin Province 46000 Thailand
www.artnana.com

3.131.13.194 =    Friday 19th April 2024
 IP : 3.131.13.194   คนที่กำลังอ่าน   Bookmark and Share   
Russia รัสเซีย  เรียนรัสเซีย  ภาษารัสเซีย ตุ๊กตารัสเซีย ของฝากรัสเซีย