ฮุปแต้มอีสาน, สิมอีสาน (Isan Mural Painting and Isan Temple Architectures)

 สิม หอไตร ฮูปแต้ม

 Sim ISAN สิม สิมอีสาน หอไตรอีสาน ฮูปแต้มอีสาน มนต์เสน่ห์แห่งพุทธศิลป์แดนดินอีสาน
 
  
  
บทความดีๆ จากอินเตอร์เน็ต : แวะชมสมบัติศิลป์ สิมวัดโพธิ์ศรี จังหวัดขอนแก่น
เสาร์ ที่ 18 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2556

แวะชมสมบัติศิลป์ สิมวัดโพธิ์ศรี จังหวัดขอนแก่น

           คำว่า สิม มีความหมายเช่นเดียวกับโบสถ์หรือพระอุโบสถของภาคกลาง สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นรูปเสียงที่กร่อนมาจากคำว่า สีมา ซึ่งหมายถึงขอบเขตหรืออาณาเขตที่กำหนดขึ้น เพื่อใช้ในกิจกรรมของพระภิกษุสงฆ์ในทางพระพุทธศาสนา

           สิมนับว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชนในภาคอีสาน เพราะนอกจากจะใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสังฆกรรมอันเกี่ยวเนื่องในทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นที่ประกอบพิธีอุปสมบทของกุลบุตรด้วย ชาวอีสานให้ความสำคัญกับสิมมากและถือว่าสิมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากพระธาตุ

           ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิมอีสาน จะแตกต่างไปจากพระอุโบสถทางภาคกลางอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิมในสมัยโบราณ ที่มีรูปแบบการก่อสร้างอย่างเรียบง่าย อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร ผู้ทำการศึกษาเรื่องสิมอีสานอย่างละเอียด ได้แบ่งลักษณะของสิมไว้ในหนังสือสิมอีสานเป็น 4 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ สิมอีสานพื้นบ้านบริสุทธิ์ สิมอีสานพื้นบ้านประยุกต์โดยช่างพื้นบ้านในชั้นหลัง สิมอีสานพื้นบ้านผสมเมืองหลวง และสิมอีสานที่ลอกเลียนแบบเมืองหลวง

           นอกจากนี้สิมอีสานยังมีชื่อเรียกตามพื้นที่ที่ก่อสร้างอีกเป็น 3 ชนิด คือ สิมที่สร้างในหมู่บ้านเรียกว่า คามสีมา สิมที่สร้างในป่าเรียกว่าอัพภันตรสีมา และสิมที่สร้างในน้ำเรียกว่า อุทกฺกเขปสีมา ในปัจจุบันยังมีปรากฎให้เห็นอยู่เพียง 2 ชนิด คือ คามสีมา ที่เรียกว่า สิมบก และ อุทกฺกเขปสีมาที่เรียกว่า สิมน้ำ เท่านั้น โดยเฉพาะสิมน้ำนั้นมีเหลืออยู่น้อยมาก ตัวอย่างเช่น สิมน้ำที่วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร สร้างโดยพระอาจารย์ ฝั้น อาจาโร เมื่อปี พ.ศ. 2517 และสิมน้ำที่วัดป่ากุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

           ส่วนสิมบกยังมีปรากฏให้เห็นอยู่โดยทั่วไป มีทั้งสร้างแบบทึบเรียกว่า สิมทึบ และสร้างแบบไม่มีฝาผนัง เรียกว่า สิมโปร่ง ซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้และสร้างด้วยอิฐถือปูน ตัวอย่างสิมโบราณที่มีความงดงามในเชิงช่างศิลป์เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ประเภทสิมทึบ ได้แก่ สิมวัดด่านม่วงคำ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร และสิมวัดกุดชุม จังหวัดยโสธร ประเภทสิมโปร่ง ได้แก่ สิมวัดโพธิ์ชัยเสมาราม อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และสิมวัดห้วยสนุก อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด

           สิมที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบ มีคุณค่าหาชมได้ยาก และได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี คือ สิมวัดโพธิ์ศรี อำเภอเมืองฯ จังหวัดขอนแก่น เป็นสิมเก่าที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 และได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2516 มีลักษณะเป็นสิมทึบพื้นบ้านบริสุทธิ์ ด้านหน้าเป็นมุขโถง มีบันไดทางขึ้นจากด้านหน้า มีหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น คลุมด้วยปีกนกโดยรอบ มีเสานางเรียงเป็นตัวรับเครื่องบน ส่วนที่งดงามที่สุดคือหลังคาที่ได้รับการตกแต่งด้วยช่อฟ้าไม้แกะสลักเป็นรูปเศียรนาคทั้ง 3 ชั้น ตัวลำยองเป็นนาคเกี้ยว 5 ตัว พันหัวพันหางเลื้อยลงมา พอถึงหลังคาชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ตัวนาคจะลดลงเหลือเพียง 4 ตัว หางหงส์เป็นนาคเศียรเดียว หน้าบันทำแบบเรียบง่ายไม่มีการประดับแต่อย่างใด

           สิ่งที่น่าชมอีกอย่างหนึ่งคือรวงผึ้ง เป็นไม้แกะสลักตามแบบสกุลช่างอีสาน แบ่งออกเป็น 3 ตอน ตอนกลางแกะสลักเป็นรูปเทวดาจับก้านเถาวัลย์ โค้งออกไปทั้ง 2 ข้าง แตกเป็นเครือนกเถา ด้านซ้ายเป็นรูปพญาครุฑกางขาแขนเกี่ยวกระหวัดลายเครือกระหนก ส่วนด้านขวาตรงกลางเป็นกระจังใบเทศลายก้านขดที่งดงามที่สุดฐานสิมก่ออิฐเป็นโบกคว่ำ ท้องกระดานก่อสลับอิฐเป็นคล้ายช่องระบายลม

           ส่วนที่ได้รับการกล่าวขานกันมากที่สุดของสิมวัดโพธิ์ศรีก็คือภาพแกะสลักไม้บานประตูที่มีลวดลายประณีตสุดยอดของช่างพื้นบ้าน เป็นภาพเล่าเรื่องคติทางพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจ มีลวดลายพันธุ์พฤกษาศิลปะพื้นบ้านอีสานเป็นพื้นเต็มบานประตู บานประตูขวามือแกะสลักเป็นรูปอดีตพระพุทธเจ้า 5 พระองค์อยู่ท่ามกลางกระหนกเครือวัลย์ เรียงลำดับจากด้านล่างไปสู่ด้านบนคือ พระกกุสันโธ มีภาพไก่เป็นสัญลักษณ์ พระโกนาคม มีพญานาคเป็นสัญลักษณ์ พระกัสสปะ มีรูปเต่าเป็นสัญลักษณ์ พระโคดม มีรูปโคเป็นสัญลักษณ์ และพระศรีอาริยเมตไตรย มีรูปสิงห์เป็นสัญลักษณ์

           ภาพแกะสลักบานประตูซ้ายมือแบ่งเป็น 3 ชั้น ด้านบนสุดแกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ใต้ที่ประทับเป็นรูปแม่พระธรณีบีบมวยผม ทั้งสองข้างแม่พระธรณีเป็นภาพเหล่ามารร้ายที่กำลังผจญพระโพธิสัตว์ ด้านล่างแม่พระธรณีเป็นเหล่ามารถูกกระแสน้ำที่บีบจากมวยผมเป็นมหาสมุทรพัดพาหมู่มารจนพ่ายไป ภาพสลักตอนล่างสุดเป็นภาพพระพุทธองค์เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ปางสมาธิประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว มีนางฟ้าปรนนิบัติอยู่ 3 องค์ มีหญิงชรา 3 คน ถือไม้เท้าเดินหลังคู้ค่อมอยู่ด้านล่างสุด

           สิมวัดโพธิ์ศรีเป็นตัวอย่างลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่งดงามลงตัวที่สุด และหาชมได้ยาก จึงเป็นที่น่ายินดีว่า ทางวัดได้สร้างพระอุโบสถใหม่ขึ้นใช้แทนของเดิม และอนุรักษ์ของเก่าไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป




สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง
ปิยะวรรณ ภักดีภูวดล...ภาพ
ได้รับความเอื้อเฟื้อจากอนุสาร อ.ส.ท.
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 43 ฉบับที่ 10 เดือน พฤษภาคม 2546

ข้อมูลการเขียน
1. วิโรฒ ศรีสุโร. สิมอีสาน. กรุงเทพฯ : บริษัทเมฆาเพรส จำกัด 2536.
2. คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัย ศิลปากร. คู่มือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางด้านกายภาพประเภทวัด เล่ม 3 วัดในภาคอีสาน.


เข้าชม : 2701


บทความดีๆ จากอินเตอร์เน็ต 5 อันดับล่าสุด







    หมายเหตุ : บางวัด ภาพจากอินเตอร์เน็ต เพราะยังไม่ได้เดินทางไปชม
ออกแบบโลโก้ ออกแบบกล่อง ออกแบบถุง ออกแบบสิ่งพิมพ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ วาดเส้น จิตรกรรม Drawing  Painting รับทำ SEO, ปั่นเว็บ, หน้า 1, อันดับ 1 ฮูปแต้ม, สิมอีสาน, ฮูบแต้ม, ศิลปะอีสาน, สิม, โบสถ์, หอไตร, สถาปัตยกรรมอีสาน
9809/1 Anankanak Rd., Tambol Kalasin, Amphoe Muang, Kalasin Province 46000 Thailand
www.artnana.com

3.149.229.253 =    Saturday 20th April 2024
 IP : 3.149.229.253   คนที่กำลังอ่าน   Bookmark and Share   
Russia รัสเซีย  เรียนรัสเซีย  ภาษารัสเซีย ตุ๊กตารัสเซีย ของฝากรัสเซีย