วัดบูรพาราม จ.อุบลราชธานี
วัดบูรพารามหรือวัดบูรพามีประวัติการสร้างที่สัมพันธ์กับเมืองอุบลราชธานีและพระสายวิปัสสนา ในอดีตเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและเป็นต้นกำเนิดของวัดสายวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะหลวงปู่สีทา ชยเสโน และหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ปัจจุบันภายในสิมเก่ายังเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อเหมือนของพระอาจารย์วิปัสสนา 5 องค์ ได้แก่ หลวงปู่สีทา ชยเสโน หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระญาณวิศิษฏ์ (ทอง จนฺทสิริ) และพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมมฺธโร) ซึ่งได้รับการเคารพสักการะจากพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก
ตามประวัติวัดบูรพา ไม่มีท่านผู้ใดเขียนไว้ชัดเจน จึงได้อาศัยแต่คำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น ซึ่งท่านก็เล่าว่า แต่เดิมนั้นที่ดินตรงนี้เป็นป่าไม้โสงเสง (ภาษาอีสาน) ซึ่งหมายถึงป่าโปร่ง เป็นที่อยู่ของสัตว์หลายชนิด ผู้คนไม่ค่อยเข้าไป จึงเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม หลวงปู่ทาสี หลวงปู่เสาร์ ได้ไปปฏิบัติธรรม ขณะนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์
ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2458 หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทราบข่าว จึงได้เดินทางมาจาก วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และปฎิบัติธรรมอยู่ที่วัดบูรพา และเมื่อเจ้ากรมหลวงสรรรพสิทธิประสงค์ ได้บริจาคทรัพย์และที่ดิน ให้สร้างวัดบูรพา จึงเป็นต้นกำเนิดสายวิปัฏนากรรมฐาน พระเกจิอาจารย์ต่างๆ ทั่วประเทศได้มาปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดบูรพา
ศาลาการเปรียญ หลังเดิมนั้น สร้างขึ้นใน พ.ศ.2458 ซึ่งแต่เดิมนั้น บริเวณที่สร้างศาลาการเปรียญนี้ ได้เคยเป็นสถานที่สร้างเมรุ เผาศพหลวงปู่เสาร์ ซึ่งเมื่อเผาศพเสร็จแล้ว จึงได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นแทน แต่ต่อมาได้เกิดไฟไหม้ หลวงพ่อพระครูอมรสิทธิ์ จึงได้สร้างวิหารหลังใหญ่ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำรูปเหมือนของหลวงปู่ ทั้ง 5 คือ พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน,พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล,พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต,พระญานวิศิษย์สิงห์ ขันตญาคโม และพระสิทธิธรรมรังษีคัมภีร์เมธาจารย์(สี ธัมมธโร)
หอไตรวัดบูรพา เป็นหอพัก คือสร้างอยู่บนพื้นดินอาคารเรือนไม้ สองหลังเคียงกัน แต่ละหลังเป็นเรือนแบบ 3 ห้อง เสากลมยกพื้นสูงมีชานเชื่อมอาคารทั้งสอง(ปัจจุบันชานได้หักพักลงมาหมดแล้ว) อาคารหลังทางทิศใต้ฝีมือปราณีตมาก ฝาแบบก้างปลา ไม้พรึงแกะสลักลวดลายกระจังกลีบบัวรอบอาคาร และไม้ลายเท้าสิงห์รองรับกรอบหน้าต่าง หลังคาทรงจั่วมุงแป้นไม้ หน้าบันกรุไม้รูปพระอาทิตย์ เชิงชายมีไม้ฉลุลายโดยรอบ ไม่ปรากฎว่าปั้นลมมีลักษณะอย่างใด เนื่องจากอาคารหอไตรทั้ง 2 หลังชำรุดทรุดโทรมมาก แต่ยังมองเห็นลักษณะโครงสร้างได้อย่างชัดเจน อาคารหลังทางทิศเหนือ ฝีมือการก่อสร้างหยาบกว่าทิศใต้ โดยเฉพาะลายผนังและการตกแต่งกรอบหน้าต่าง
สิมเก่าวัดบูรพารามมีสภาพพังทลาย โดยเฉพาะตัวสิม แต่ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรแล้ว อีกทั้งทางวัดยังได้ก่อสร้างอาคารคลุมไว้ทั้งหลัง เพื่อป้องกันฝนและแดด ส่วนหอไตรมีสภาพมั่นคงแข็งแรง แม้ว่าจะเริ่มมีบางส่วนชำรุดทรุดโทรม เช่นฝาผนังไม้บางแผ่นเริ่มหลุดออก โบราณสถานภายในวัดที่สำคัญ ได้แก่ สิมและหอไตร ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 124ง วันที่ 17 ธันวาคม 2544 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมสิมเก่าและหอไตรได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีการติดตั้งป้ายให้ข้อมูลต่างๆ ของโบราณสถาน
วัดบูรพาราม จ.อุบลราชธานี
ข้อมูลจาก : ป้ายประชาสัมพันธ์, place.thai-tour.com
ข้อมูลจากป้าย ททท.และป้ายกรมศิลป
วัดบูรพาราม วัดนี้สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2436 - 2453 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้สร้างถวายพระสีทา ชยเสโน แห่งวัดศรีอุบลรัตนารามด้วยศรัทธาที่เห็นท่านมานั่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน ณ บริเวณนี้เป็นประจำ
สิมวัดบูรพาราม มีลักษณะเป้นสิมทึบ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 2 ห้อง หันหน้าออกสู่แม่น้ำมูล ส่วนฐานอาคารก่อด้วยอิฐเป็นฐานเอวขันแบบสิมอีสานทั่วไป ผนังมีโครงสร้างภายในเป็นไม้ระแนงฉาบด้วยดินเหนียวผสมน้ำและฟาง ฉาบทับด้วยปูนขาวอีกครั้ง
หอไตร ลักษณะเป็นเรือนไม้ขนาด 3 ห้อง 2 หลังคู่กัน ยกพื้นสูงด้วยเสาไม้กลม หลังละ 8 ต้น มีชานเชื่อมตรงกลาง หลังคาเป็นทรวจั่ว หน้าจั่วทำลวดรัศมีพระอาทิตย์ ฝาผนังอาคารตีไม้ในแนวเฉียงเป็นลายก้างปลา ผนังด้านข้างมีหน้าต่างข้างละ 3 บาน รองรับด้วยหย่องลายแข้งสิงห์ ตอนล่างของผนังของผนังอาคารโดยรอบตกแต่งด้วยลายบัวฟันยักษ์ประดับกระจกสีเหลือง ขาว และเขียว
|
|
ถ่ายภาพเมื่อ : 13 มีนาคม 2559
สร้างหลังคาครอบสิมเก่าไว้ ป้องกันน้ำฝน แดด ลม |
ภายในตัวสิม ประดิษฐานรูปหล่อพระอริยสงฆ์ |
ผนังกำแพงสิมเก่า |
ผนังกำแพงสิมเก่า |
หอไตรโบราณทำด้วยไม้ |
หอไตรโบราณทำด้วยไม้ |
หอไตรโบราณทำด้วยไม้ |
วิหารหลังใหม่ เพิ่งจะสร้างเสร็จ |
พระพุทธรูปปางนาคปรก สร้างขึ้นใหม่ |
ห้องน้ำชาย - หญิง รูปแบบไทยๆ |
Isan Upload
ภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สถานที่ตั้ง : วัดบูรพาราม ถ.พโลรังฤทธิ์ ม.6 ต.ปทุม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี (เทศบาลนครอุบลราชธานี)
ถ่ายภาพเมื่อ : 13 มีนาคม 2559
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 15 มีนาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 337 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง, ข้อมูลจาก : ป้ายประชาสัมพันธ์, place.thai-tour.com
|
13-03-2016 Views : 338
|