วัดปทุมคงคา จ.ร้อยเอ็ด
วัดปทุมคงคา สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 93 ตารางวา น.ส. 3 เลขที่ 3522 อาณาเขต อาคารเสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถ กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2523 ศาลาการเปรียญ กว้าง 25 เมตร ยาว 50 เมตร เป็นอาคารไม้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2512 หอสวดมนต์ กว้าง 25 เมตร ยาว 50 เมตร เป็นอาคารไม้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2512 กุฏิสงฆ์จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง และครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง และศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง สร้างด้วย ไม้ปูชนียวัตถุมีพระประธาน 1 องค์ และพระพุทธรูป 3 องค์
วัดปทุมคงคาตั้งเมื่อ พ.ศ. 2350 เดิมชื่อว่า วัดเมืองบัว ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดปทุมคงคา แต่ชาวบ้านเรียกว่า วัดใหญ่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2524 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาส เท่าที่ทราบนามคือ รูปที่ 1 พระไพรบรูณ์ รูปที่ 2 พระอุ้ม รูปที่ 3 พระครูสุนทรธรรมธาดา รูปที่ 4 พระคู รูปที่ 5 พระพัน รูปที่ 6 พระสอน รูปที่ 7 พระพุฒ รูปที่ 8 พระสิงห์ รูปที่ 9 พระจันดา รูปที่ 10 พระเชย รูปที่ 11 พระท่อน รูปที่ 12 พระบุญมา รูปที่ 13 พระผึ้ง รูปที่ 14 พระสำเนียง รูปที่ 15 พระพรมมา รูปที่ 16 พระสาย รูปที่ 17 พระครูปทุมสังฆวิสุทธิ ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน
สิมเก่า
สิมหรือพระอุโบสถที่เก่าแก่ 230-260 ปี (พ.ศ.2315-พ.ศ. 2285) ที่ วัดปทุมคงคา (ประวัติในเว็บ) จากที่ดูแล้ว น่าจะไม่เกิน ๑๒๐ ปี หากแต่ว่านับจากการสร้างแล้วบูรณะหลายครั้งหลายหน เพราะจากที่ดูสภาพสิมในปัจจุบัน สิมเป็นสิมก่ออิฐถือปูน โครงสร้างภายในทำด้วยไม้ เป็นสิมทึบเข้าออกทางเดียว ห้นหน้าไปทางทิศตะวันตก (มหาอุตม์) บันไดยกสูง ไม่มีราวบันได บันไดสูงตามลักษณะของฐานสิมซึ่งเป็นฐานเอวขันยกสูง ตัวสิมแบ่งเป็นช่อง 3 ช่อง ช่องแรกและช่องสองมีหน้าต่าง หลังคายกชั้น มุงด้วยสังกะสี โหง่ทำด้วยไม้ การทำปูน มีการขุดพบซากเปลือกหอย คาดว่าจะนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำปูน ซึ่งจะมียางบง เอ็นวัว เอ็นควาย เปลือกหอย เป็นส่วนผสม ฝีมือช่างพื้นบ้านผสมช่างญวน
สิมวัดปทุมคงคา ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ในเมืองโบราณซึ่งมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายราว 2,500 ปีมาแล้ว งจนสมัยที่ได้รับอิทธิพลเขมรสมัยปาปวน ดังปรากฏในโบราณสถาน " กู่เมืองบัว" ซึ่งมีอายุในราว พุทธศตวรรษที่ 17-18 เป็นประจักษ์พยานอยู่
จากการสัมภาษณ์พ่อใหญ่สม นิลทรา อายุ 77 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องเก่าๆ ของหมู่บ้าน และทันได้เห็นการก่อสร้างสิมวัดปทุมคงคา กล่าวว่า ในสมัยตัวท่านยังเป็นเด็ก อายุประมาณ 7 ขวบ (งพ.ศ. 2470) ได้เห็นพ่อแม่รวมทั้งชาวบ้านคนอื่นๆ ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างสิมนี้ แต่เป็นการก่อสร้างครั้งที่สองแล้ว โดยได้รื้อสิมหลังเก่าออก ใช้เวลาก่อสร้างประมาณสองปีจึงแล้วเสร็จ งในสมัยนั้นวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐ (ดินกี่) ปูนสอ ปูนฉาบ ล้วนสามารถหาและทำขึ้นเองทั้งสิ้น จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ยังเป็นที่รับรู้กันในหมู่ชาวบ้านว่า บริเวณที่เรียกว่า "ท่าดินกี่" ซึ่งอยู่ริมลำเสียว ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร นั้นเคยมีการปั้นอิฐและเผาอิฐกันตั้งแต่เดิม
สิมวัดปทุมคงคานี้ได้ชาวญวนที่ชาวบ้านเรียกว่า แกวปากวาก (ปากแหว่ง) มีอาชีพขายผ้าตามมู่บ้านต่างๆ มาเป็นช่างอำนวยการก่อสร้าง เพราะถือกันว่าชาวญวนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเรื่องงานปูนมากกว่าชาวอีสาน ตามที่ปรากฏในปัจจุบัน สิมวัดปทุมคงคาเป็นสิมทึบ เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นช่างพื้นบ้าน ไท-อีสาน ผสมฝีมือช่างญวน ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดความยาวสามห้อง (กว้าง 8 เมตร ยาว 10.1 เมตร สูง 7.2 เมตร) ฐานแอวขัน (ฐานปัทม์) มีลักษณะพิเศษ คือ ที่มุมของฐานตกแต่งด้วยการก่ออิฐเสาติดผนัง ล้อกับเส้นลวดบัวของฐาน ส่วนนี้ยังคงเป็นฝีมือช่างญวน
รอบฐานปักใบเสมาหินขนาดเล็ก ถัดขึ้นมาจากฐานเป็นผนังทึบ ผนังด้านข้างตกแต่งด้วยเสาติดผนังแบบเรียบๆ เจาะช่องหน้าต่างด้านละสองช่อง มีบานหน้าต่างไม้ปิดเปิดได้ ส่วนด้านหน้าเป็นประตูทางเข้า มีบันไดทางขึ้นอย่างเรียบๆ ส่วนหลังคา ปัจจุบันมุงด้วยสังกะสีสองชั้นเพื่อระบายอากาศ รอบชายคามีเสาปีกนก แต่ปัจจุบันมีการต่อเติมหลังคายื่นออกมาคลุมบันไดทางขึ้น ภายในสิมมีฐานชุกชี ประดิษฐานพระประธาน และพระพุทธรูปไม้จำนวนหนึ่ง
เมื่อ พ.ศ. 2505 ได้มีการซ่อมแซมครั้งหนึ่ง โดยนำปูนซีเมนต์มาฉาบผนังส่วนชำรุด และเปลี่ยนหลังคาแป้นเกล็ดไม้มาเป็นสังกะสี ปัจจุบันวัดปทุมคงคา ได้ก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น สิมเก่าหลังนี้จึงไม่ได้ประกอบสังฆกรรมอีกต่อไป มีเพียงพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เท่านั้น วัสดุต่างๆ รวมทั้งโครงสร้างภายในภายนอก ขาดการเอาใจใส่ดูแลเท่าที่ควร จึงมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก
จากการสอบถามประวัติการสร้างสิมวัดปทุมคงคา ทำให้ทราบว่า เมื่อประมาณ 70-80 ปี ที่ผ่านมา ซากฟอสซิลหอยที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นแหล่งปูนที่สำคัญของชาวอีสานที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ คำบอกเล่านี้ชวนให้คิดว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อหลายร้อยปีก่อน การสร้างโบราณสถานต่างๆ ที่ปรากฏร่องรอยเหลือให้เห็นอยู่มากมายในพื้นที่แถบนี้นั้น ได้ใช้วัสดุจากแหล่งเดียวกัน
จากหนังสือ โบราณคดีหลากสาระในแดนดินอีสาน กรมศิลปากร
09-02-2015 Views : 431