วัดโนนศิลาอาสน์ จ.อุดรธานี
ข้อมูลจาก ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วัดโนนศิลาอาสน์ตั้งอยู่ที่บ้านหนองกาลึม รวบรวมใบเสมาสมัยทวารวดีจากบริเวณใกล้เคียงมาเก็บรักษาไว้จำนวนมาก บางใบมีความสูงกว่าตัวคน บางใบมีภาพเล่าเรื่องชาดก
ใบเสมาแผ่นนี้เล่าเรื่อง "
สุวรรณกัฏกฎชาดก " ใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่องไว้ที่โคน เป็นองค์ประกอบที่พบได้บ่อยครั้งของใบเสมาที่พบจากจังหวัดอุดรธานี ทว่าองค์ประกอบภาพมิได้วางบุคคลประธานไว้ตรงกลาง แต่อยู่ทางขวา ทำให้องค์ประกอบภาพเอียงไปทางขวาของใบเสมา
ใบเสมาแผ่นนี้เล่าเรื่องสุวรรณกัฏกฎชาดก ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์กำเนิดเป็นพราหมณ์ผู้มีแววตาใส มีปูทองเป็นมิตร วันหนึ่งมีอีกาอยากทานดวงตาของพระโพธิสัตว์ จึงให้งูพิษมาฉกพราหมณ์โพธิสัตว์ เมื่ออีกาหมายเข้ามาจิกกินดวงตา ปูทองที่เป็นมิตรจึงเข้ามาช่วยโดยการใช้ก้ามหนึ่งหนีบอีกา บังคับให้งูดูดพิษคืนไป จนพราหมณ์พระโพธิสัตว์ฟื้นคืนสติ
จากภาพเล่าเรื่องจะเห็นพราหมณ์โพธิสัตว์นอนสิ้นสติอยู่ทางขวา มีปูทองกำลังหนีบอีกาอยู่ และงูกำลังเลื้อยเข้ามาเพื่อดูดพิษ
ใบเสมาสลักเรื่อง "
วิธูรบัณฑิตชาดก " ภาพสลักบนใบเสมานี้ แสดงเครื่องแต่งกายของพระบุคคลซึ่งคล้ายกับประติมากรรมในศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย หรือศิลปะลพบุรี ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้ในภาพสลักบนใบเสมาทวารวดีแถบอีสานตอนบน
ภาพลักนี้อาจเป็นพุทธประวัติตอนมหาภิเนษกรมณ์หรือวิธูรบัณฑิตชาดก โดยหากเชื่อว่าเป็นพุทธประวัติตอนมหาภิเนษกรมณ์ย่อมหมายความว่าบุคคลตรงกลางคือเจ้าชายสิทธัตถะ ม้าที่อยู่ทางขวาคือม้ากัณฑกะ บุคคลทางซ้ายคือนายฉันนะ แต่หากเชื่อว่าเป็นวิธูรบัณฑิตชาดกก็อธิบายได้ว่าบุคคลตรงกลางคือพระวิธูร เบื้องซ้ายคือปุณณกยักษ์ เบื้องขวาคือม้าพาหนะของปุณณกยักษ์
ใบเสมาสลักเรื่อง "
เตมียชาดกชาดก "ใบเสมาแผ่นนี้แสดงเครื่องแต่งกายของพระเตมีย์ซึ่งคล้ายกับประติมากรรมในศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย หรือศิลปะลพบุรี อันเป็นรูปแบบที่พบได้ในภาพสลักบนใบเสมาทวารวดีแถบอีสานตอนบน
เรื่องเตมียชาดกมีว่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระเตมีย์ เป็นพระโอรสของกษัตริย์เมืองหนึ่ง ตอนเป็นเด็กได้เห็นพระบิดาลงโทษนักโทษจึงเห็นว่าหากเป็นกษัตริย์ต้องทำบาป จึงแกล้งเป็นคนง่อย หูหนวก เป็นใบ้ ต่อมาได้รับคำทำนายว่าเป็นกาลกิณีของบ้านเมือง พระบิดาจึงให้นายสารถีนำพระเตมีย์ไปประหาร เมื่อเห็นว่าวาระสุดท้ายใกล้เข้ามาพระองค์จึงเลิกแกล้งเป็นคนง่อย หูหนวก เป็นใบ้ และเทศนาสั่งสอนนายสารถีนั้น
ใบเสมาแผ่นนี้เลือกเหตุการณ์ที่พระเตมีย์กำลังเทศนาสั่งสอนนายสารถี พระเตมีย์ยืนอยู่ตรงกลาง นายสารถีคุกเข่าอยู่ทางซ้าย ในมือถือเสียมขุดดินเพื่อจะฝังพระเตมีย์ ราชรถอยู่ทางขวาของภาพ
ใบเสมาสลักเรื่อง "
สุวรรณสามชาดก " วัดโนนศิลาอาสน์ สลักภาพเล่าเรื่องไว้ที่โคนซึ่งเป็นสิ่งทีพบได้บ่อยครั้งของใบเสมาที่พบจากจังหวัดอุดรธานี
มีข้อน่าสังเกตว่าเครื่องแต่งกายของสุวรรณสามและพระเจ้าปิลยักษ์คล้ายกับประติมากรรมในศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย หรือศิลปะลพบุรี ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้ในภาพสลักบนใบเสมาทวารวดีแถบอีสานตอนบน
ภาพสลักเล่าเหตุการณ์ที่สุวรรณสามออกมาหาน้ำให้บิดาและมารดาตามปกติ มีฝูงเนื้อฝูงสัตว์ติดตามใกล้ชิด พระเจ้าปิลยักษ์เห็นสุวรรณสามมีรูปร่างและผิวพรรณงดงาม ต้องการรู้ว่าสุวรรณสามเป็นใคร เป็นมนุษย์ เทวดา หรือนาค เพื่อไม่ให้สุวรรณสามหนีไปได้จึงแผลงศรยังสุวรรณสามด้วยเหตุว่าต้องการให้อ่อนแรง จะได้หนีจากไปไม่ได้ สุวรรณสามจึงสิ้นสติไป
ข้อมูลจาก ป้ายประชาสัมพันธ์
กลุ่มใบเสมาวัดโนนศิลาอาสน์ ประกอบด้วยใบเสมาหินทรายจำนวน 21 ใบ รูปทรงแบบแผ่นแบน ด้านบนรูปโค้งแบบกลีบบัว ด้านล่างสลักกลีบบัวหงาย มีทั้งแบบเรียบและแบบสลักเรื่องราว ส่วนใหญ่สลักภาพด้านเดียว อีกด้านสลักแกนสันสถูป
ที่สลักทั้ง 2 ด้านมีประมาณ 2-3 ใบ นิยมสลักภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ และชาดก มีลักษณะศิลปะแบบวัฒนธรรมทวารวดีที่มีอิทธิพลของศิลปะขอมแบบเกาะแกร์ ราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 15
จุดประสงค์ของการสร้างใบเสมาเหล่านี้ เพื่อเป็นการแสดเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทางพุทธศาสนา และเพื่ออุทิศถวายแก่พระพุทธศาสนา เป็นคติการสร้างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะดินแดนแถบอีสาน
1. เป็นภาพบุรุษประทับยืนอยู่ภายในซุ้ม ทรงสวมศิราภรณ์มงกุฏยอดแหลม มีเครื่องประดับได้แก่ กรองศอ กุณฑล พาหุรัด และมีอุทรพันธะคาดรอบพระอุทร ซึ่งแสดงถึงความสูงศักดิ์ สวมภูษาสมพตสั้นชายภูษาเป็นรูปคล้ายสมอเรือซ้อนกันสองชั้น ด้านขวาเป็นภาพราชรถเทียมม้าสองตัว ด้านซ้ายเป็นภาพบุรุษนั่งเอนตัว ในมือซ้ายถือวัตถุคล้ายเสียมขุดดิน
สันนิษฐานว่าเป็นภาพชาดกตอน "
เตมียชาดก " แสดงภาพตอนนายสุนันทสารถี ได้รับพระราชบัญชาจากพระเจ้ากาสิกราช ให้นำพระเตมียราช เสด็จโดยราชรถไปฝังยังนอกเมือง ระหว่างที่นายสุนันทสารถีกำลังขุดหลุม พระเตมียราชก็ทรงเทศนาสั่งสอนว่าด้วยคาถาการบูชามิตร 10 ประการ
2. ด้านซ้ายสลักเป็นภาพบุรุษกำลังยิงศรอยู่ใต้ต้นไม้ มือซ้ายถือคันศร มือขวาถือลูกศร ด้านขวาเป็นภาพบุรุษกำลังเดิน สวมมงกุฏยอดแหลม มือซ้ายประคองภาชนะใส่น้ำ (คนโท) ที่วางอยู่บนหลังเนื้อ (มฤค) มือขวาถือก้านดอกไม้บานกลางลำตัวมีลูกศรเสียบทะลุอยู่
สันนิษฐานว่าเป็นภาพชาดกตอน "
สุวรรณสามชาดก " แสดงภาพตอนพระเจ้ากบิลยักษ์เสด็จออกล่าเนื้อในป่าหิมพานต์ พบสุวรรณสามกำลังตักน้ำเพื่อนำไปปรนนิบัติบิดามารดาตาบอด โดยมีฝูงเนื้อแวดล้อมอยู่ จึงยิงลูกศรอาบยาพิษถูกสุวรรณสามล้มลง
3. เป็นภาพบุรุษประทับนั่งขัดสมาธิบนแท่นสูงภายในซุ้ม ทรงสวมมงกุฏและเครื่องประดับอย่างผู้สูงศักดิ์ พระหัตถ์ขวาถือก้านดอกไม้บาน ด้านขวเป็นภาพบุคคลขนาดเล็กสองคนภายในกรอบซุ้ม พระหัตถ์ซ้ายถือก้านดอกบัวตูม สวมมงกุฏ และกุณฑลแสดงถึงความสูงศักดิ์
สันนิษฐานว่าเป็นภาพชาดกตอน "
เวสสันดรชาดก " มหาชาติสุดท้ายที่ทรงบำเพ็ญทานบารมี โดยภาพหมายถึง พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระกัณหา และพระชาลี
4. เป็นภาพบุรุษนั่งขัดสมาธิเพชรอยู่บนบัลลังค์สูง ภายในกรอบซุ้ม ทรงสวมศิราภรณ์มงกุฏยอดแหลมและเครื่องประดับต่างๆ ด้านขวาเป็นภาพสตรีนั่งบนแท่น สวมภูษาเป็นผ้าโสร่งจีบริ้ว ด้านซ้านเป็นภาพบุคคลนั่งบนแท่น พระหัตถ์ทั้งสองประสานไขว้ไว้ที่พระอุระแสดงความเคารพ
สันนิษฐานว่า บุรุษกลางภาพน่าจะหมายถึง พระมหาสัตว์ หรืออดีตชาติของพระพุทธองค์กำลังเทศนา โดยมีผู้สูงศักดิ์ที่เคารพเลื่อมใสฟังอยู่ทั้งสองด้าน แต่
ไม่สามารรถสรุปได้ว่าเป็นเรื่องใด
5. เป็นภาพบุรุษนอนหงาย มือทั้งสองขัดประสานไว้แนบแก้มขวา สวมตุ้มหูทรงตุ้มแหลม ตรงด้านหน้าของชายผ้า มีปูใช้ก้ามข้างหนึ่งหนีบคอนกกา ก้ามอีกข้างหนึ่งหนีบขากาไว้ ที่สันกลางใบเสมาสลักเป็นรูปงูเลื้อยพันอยู่ หัวงูใกล้กับเข่าของบุรุษที่นอน
สันนิษฐานว่าเป็นภาพชาดกตอน "
สุวรรณกักกฏชาดก " แสดงภาพตอนพระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ มีนัยน์ตาวงกลมสามชั้น สดใส กากับงูจึงคิดอุบายเพื่อที่จะทำร้ายและกินนัยน์ตา โดยให้งูกัดพระโพธิสัตว์ล้มลง กาบินเข้าไปจะจิกกินนัยน์ตา แต่ปูสีทองสหายของพระโพธิสัตว์เข้าช่วยเหลือไว้ได้
6. เป็นภาพบุรุษประทับนั่งขัดสมาธิ อยู่ในแท่นบัลลังค์ภายในกรอบซุ้ม ทรงสวมศิราภาณ์มงกุฏยอดแหลมและเครื่องประดับต่างๆ ด้านขวาเป็นภาพบุคคลนั่งพับเพียบอยู่บนแท่นภายในกรอบซุ้ม อยู่ภายในระดับที่ต่ำกว่า ด้านซ้ายสลักเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ภายในเป็นภาพสระบัว มีบุคคลถอนสายบัวชูขึ้น ด้านบนเป็นภาพสลักคล้ายงูแลบลิ้น
สันนิษฐานว่า บุรุษกลางภาพน่าจะหมายถึง พระมหาสัตว์ อันเป็นอดีตชาติของพระพุทธองค์ อาจเป็นภาพชาดกตอน "
เทวธรรมชาดก " ซึ่งมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการเทศนาธรรมของพระมหาสัตว์ ที่เสวยพระชาติเป็นเจ้าชายมหิสกุมาร เพื่อสั่งสอนผีเสื้อน้ำที่จับพระอนุชาของพระองค์ไป แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด
|
|
ในวโรกาสที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทอดพระเนตรกลุ่มใบเสมาวัดโนนศิลาอาสน์วราราม ในวันอทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2546 ทรงสนพระทัยเนื้อหาและเรื่องราวภาพสลักใบเสมากลุ่มนี้อย่างมาก และทรงแสดงความห่วงใย หากปล่อยให้ใบเสมาเหล่านี้ปักไว้กลางแจ้ง ดังพระดำรัสว่า
" เสียดายภาพสวยๆ ถ้าปักไว้อย่างนี้ จะทำให้ภาพเสียหายหมด ทำอาคารคลุมแบบกลุ่มใบเสมา วัดพุทธบาทบัวบานได้หรือไม่ "
กรมศิลปากรร่วมกับจังหวัดอุดรธานี จึงได้ดำเนินการจัดสร้างอาคารและเคลื่อนย้ายใบเสมานำมาเก็บรักษาไว้ในอาคาร โดยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพาน จำนวน 341,000 บาท เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามแนวพระราชดำริให้คงอยู่สืบไป
ภาพถ่ายเมื่อ : 30 ตุลาคม 2559
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
วัดโนนศิลาอาสน์ |
|
|
|
|
สถานที่ตั้ง : วัดโนนศิลาอาสน์วราราม บ้านหนองกาลืม ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
ถ่ายภาพเมื่อ : 30 ตุลาคม 2559
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 31 ตุลาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 5206 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง, ข้อมูลจาก : ป้ายประชาสัมพันธ์, archae.su.ac.th
|
09-02-2015 Views : 5207