วัดหนองหมื่นถ่าน
สิมวัดจักรวาลภูมิพินิจ (วัดหนองหมื่นถ่าน) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหนองหมื่นถ่าน ตำบลหนองหมื่นถ่าน มีลักษณะทางศิลปกรรมเป็นสิมแบบพื้นเมืองอีสาน ประเภทสิมทึบ หน้าบันหรือรังผึ้งมีลวดลายแกะสลักไม้ ภายนอกมี "ฮูปแต้ม" เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพขุมนรก และภาพพระพุทธองค์ ขณะปลงพระเกศา มีพระอินทร์มารับนำไปประดิษฐานยังเจดีย์จุฬามณี ภายในมีภาพวรรณคดีพื้นเมืองเรื่องสังข์ศิลป์ชัย สันนิษฐานว่ามีอายุในราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การเดินทาง จากอำเภอเมือง เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 2043 ถึงอำเภออาจสามารถ และเดินทางต่อไปอีก 10 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางบ้านหนองหมื่นถ่าน 2 กิโลเมตร
หลวงพ่อภาชี...ที่หายไป
ทุกเช้าแม่จะไป"จังหัน" (การถวายอาหารทั้งคาว หวาน ผลไม้ และของขบฉันทุกชนิดที่จัดไว้สำหรับพระสงฆ์) ที่วัดเป็นภาพเดียวกับภาพที่ผมจดจำจนชินตาตั้งแต่สมัยยายยังมีชีวิตอยู่ ทุกเช้ายายไปวัดก็จะชวนหลานชายไปด้วย ไปช่วยยกสำรับประเคนพระท่าน จวบจนวันที่สังขารไม่ให้นั่นแหละจึงมาตักบาตรที่หน้าบ้านแทนยายมักจะชอบพาผมไปที่ "สิม" ไปดู "ฮูปแต้ม" ภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพขุมนรก และภาพพระพุทธองค์ขณะปลงพระเกศา มีพระอินทร์มารับนำไปประดิษฐานยังเจดีย์จุฬามณี ตอนนั้น ผมยังเด็กอยากดูก็อยากดูกลัวก็กลัวเพราะสิม อยู่ติดป่าช้า ที่ตั้ง "กองฟอน" เผาผี
สิมวัดจักรวาฬภูมิพินิจ มีลักษณะทางศิลปกรรมแบบพื้นเมืองอีสาน ประเภทสิมทึบ หน้าบันหรือรังผึ้งมีลวดลายแกะสลักไม้ หลังคาทำจากกระเบื้องไม้ ภายนอกมี ฮูปแต้ม ภายในมีภาพวรรณคดีพื้นเมืองเรื่องสังข์ศิลป์ชัย สันนิษฐานว่ามีอายุในราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเป็นที่ประดิษฐานของ "หลวงพ่อภาชี" ที่ศักดิ์สิทธิ์ ขออะไรก็สมดังหวัง
บ้านหนองหมื่นถ่าน ตำบลหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นดินแดนเก่าแก่บริเวณขอบตอนบนของทุ่งกุลาร้องไห้ ชุมชนเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 2,500 ปี เป็นเขตในอำนาจของ "จิตรเสน" หรือกษัตริย์มเหนทรวรมัน ที่มีศูนย์กลางอยู่ทางลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล ทางอุบลราชธานี-ยโสธร (สุจิตต์ วงษ์เทศ ; สยามประเทศไทย, มติชน 24 พ.ย. 2551)
บ้านหนองหมื่นถ่าน ยังเป็นบ้านเกิดของมหาสิลา วีระวงส์ นักปราชญ์ลาวที่มีความเชี่ยวชาญวรรณคดีลาว-ไทย เคยทำงานในหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร และเคยสมัคร ส.ส. ที่จังหวัดขอนแก่น
เมื่อ 6 ปีที่แล้ว คืนวันที่ 15 พ.ย.2551 ได้มีโจรมาขโมยพระประธาน "หลวงพ่อภาชี" ไปจากสิมเก่าแก่วัดจักรวาฬภูมิพินิจ ซึ่งกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544
หลวงพ่อภาชี เป็นพระปางสมาธิ ลงรักปิดทองทั้งองค์ (ปัจจุบันทองได้หลุดร่อนบางส่วน) มีขนาดหน้าตักกว้าง 68 นิ้ว สูงจากรากฐานถึงยอดเกศบัวตูม 121 นิ้ว คาดว่าสร้างในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระเกศเป็นดอกบัวตูม ฐานพระมีรูป 12 นักษัตร (รอบเวลา 12 ปี) มีรูปสัตว์ประจำปีเกิด 12 ชนิดอย่างละ 3 ตัวในอิริยาบถต่างๆ ถูกสร้างมาอย่างประณีตสวยงามมากมากว่า 200 ปี
พฤติกรรมลักขโมยพระพุทธรูป และโบราณศิลปวัตถุในวัดวาอารามทั่วประเทศนี้มีมานานหลายสิบปีแล้ว พฤติกรรมอย่างนี้เคยมีตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่องถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ยังลักขโมยในวงแคบๆ นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง ครั้งหลัง พ.ศ.2500 ช่วงสงครามเย็นจะมีชุกชุมมากต่อเนื่องจนปัจจุบัน
ราว 40-50 ปีมาแล้ว โจรขโมยลักพระพุทธรูปจะชุกชุมทางภาคกลาง เพราะมีผู้ต้องการเช่าซื้อพระพุทธรูปเก่าแบบสุโขทัย อู่ทอง ลพบุรี ฯลฯ ถ้าต้องการแบบเชียงแสน ก็ขึ้นไปขโมยตามวัดในภาคเหนือ แต่ยังไม่นิยมแบบอยุธยา
ปัจจุบันพระพุทธรูปเก่าแบบต่างๆ เหล่านี้หาไม่ได้แล้ว หรือถูกขโมยเกือบหมดทุกวัดแล้ว นักเล่นของเก่าเลยหันมาเอาเท่าที่หาได้ จะยุคไหนก็ได้ แล้วกระจายขโมยตามวัดบ้านนอกทางอีสาน เพราะหาง่าย ลักง่าย ขโมยง่าย บางวัดโลภมากขอของแลกเปลี่ยนก็ยกพระพุทธรูปในโบสถ์ให้ไป (สุจิตต์ วงษ์เทศ ; สยามประเทศไทย, มติชน 24 พ.ย. 2551)
บัดนี้ชาวหนองหมื่นถ่าน ที่รำลึกถึงหลวงพ่อภาชี ก็ได้แต่กราบไหว้ภาพถ่าย ส่วนพ่อผมมีพระพิมพ์เนื้อสำริด องค์ใหญ่ 1 คูณ 2 นิ้ว ห้อยคอไม่ได้มันหนัก
ส่วนคดีนั้นเงียบหาย ตำรวจไม่ทำคดีต่อ โดยชาวบ้านเชื่อว่า มีขบวนการขโมยพระตามใบสั่งของนักสะสมของเก่า ทุกวันนี้ได้แต่สาปแช่งพวกหัวขโมยขอให้ล่มจม ตายไปอย่าได้ผุดได้เกิด
ข้อมูลจาก : หลวงพ่อภาชี...ที่หายไป โดย : แกะรอยการเมือง กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557
28-11-2013 Views : 3331